ข้อมูลวิจัยบริษัทไนท์แฟรงค์ประเทศไทย เผยว่า ตลาดคอนโด ช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ผลกระทบของโควิด-19 ยังคงแผ่ขยายอย่างต่อเนื่องตลอดครึ่งแรกของปี 2564 ตลอดจนการติดเชื้อที่แพร่ระบาดจากคลื่นลูกใหม่ของโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งผลให้กำลังซื้อคอนโดมิเนียมจากผู้ซื้อชาวไทยยังคงลดลงและกำลังซื้อจากชาวต่างชาติยังคงไม่กลับมา ผู้พัฒนาอสังหาฯรายใหญ่ต้องเลื่อนหรือชะลอการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่เป็นไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ขณะที่หันมาเน้นการพัฒนาโครงการแนวราบเพื่อรองรับกลุ่มผู้ซื้อที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริงมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย

  • อุปทานสะสมของ คอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 652,081 หน่วย  ช่วงครึ่งปีแรก 2564  โดยมี 6,293 หน่วย ที่มาจาก 20 โครงการที่เปิดตัวในครึ่งปีแรก 2564  โดยอุปทานใหม่ในครึ่งปีแรก 2564 ลดลง 38.7% เมื่อเทียบกับอุปทานใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563
  • จำนวนคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ในเขตชานเมืองกรุงเทพฯ คิดเป็น 66% ของอุปทานใหม่ทั้งหมดที่เปิดตัวในครึ่งแรกของปี 2564 ขณะที่พื้นที่รอบนอกศูนย์กลางธุรกิจ (City Fringe) คิดเป็น 29% และพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจคิดเป็น 5%
  • จากจำนวน 6,293 หน่วยของอุปทานใหม่ มีเพียง 2,333 หน่วยที่ขายได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ คิดเป็นอัตราการขายที่ 37.1% ซึ่งสะท้อนถึงอัตราการขายที่เพิ่มขึ้น 13.3% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ราคาเสนอขายคอนโดมิเนียมย่านศูนย์กลางธุรกิจอยู่ที่ 240,609 บาทต่อตร.ม. ลดลง 4.3% จากครึ่งปีหลัง 2563 คอนโดมิเนียมย่านรอบนอกศูนย์กลางธุรกิจ (City Fringe) อยู่ที่ 116,225 บาทต่อตร.ม. ลดลง 5.9 % จากครึ่งปีหลัง 2563 และคอนโดมิเนียมย่านชานเมืองกรุงเทพฯ อยู่ที่ 64,390 บาทต่อตร.ม. ลดลง 6.6% จากครึ่งปีหลัง 2563
ตลาดคอนโดกรุงเทพฯครึ่งแรกปี 64

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทพัฒนาอสังหาฯ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้หันไปเน้นการพัฒนาตลาดแนวราบสำหรับบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮาส์ แม้ว่าตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯจะมีผลประกอบการที่ลดลงอย่างรวดเร็ว แนวโน้มการทำงานจากที่บ้าน (work from home) ได้รับแรงผลักดันจากความจำเป็นที่เกิดขึ้น โควิด-19 ได้เปลี่ยนความคาดหวังของผู้ซื้อมาเป็นความต้องการบ้านขนาดใหญ่หรือมีจำนวนห้องเพิ่มเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับทำงาน ซึ่งยังช่วยผลักดันให้เกิดความความต้องการบ้านในพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯ ซึ่งมีราคาถูกกว่า

  • ตลาดบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปถือเป็นตลาดบ้านระดับลักชัวรี ซึ่งยังคงเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเล็กและมีความต้องการจำกัด
  • ใบอนุญาตจัดสรรที่ดินสำหรับบ้านราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีทั้งสิ้น 578 หน่วย
  • มีโครงการบ้านจัดสรรพร้อมขายจำนวน 224 โครงการ โครงการเหล่านี้มีหน่วยทั้งหมดรวมกัน 20,018 หน่วย โดยขายได้แล้วที่ประมาณ 13,276 หน่วย จาก 20,018 หน่วย คิดเป็นอัตราการขายที่ 66%
  • หากจำแนกตามระดับราคา พบว่าบ้านที่มีความต้องการสูงที่สุดมีราคาขายระหว่าง 10 ถึง 20 ล้านบาท โดยมียอดขายสะสม 7,218 หน่วย คิดเป็นอัตราการขายที่ 61% ส่วนบ้านราคาขายระหว่าง 21 ถึง 30 ล้านบาท และ 31 ถึง 40 ล้านบาท มีความต้องการอยู่ที่ 2,612 หน่วย และ 1,871 หน่วย ตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตราการขายที่ 77% และ 73% ตามลำดับ
  • หน่วยขายได้ใหม่ในช่วงครึ่งปีแรก 2564 มีจำนวน 1,610 หน่วย แสดงให้เห็นว่ามีจำนวนหน่วยขายใหม่ที่ขายได้ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ที่มีจำนวนหน่วยใหม่ที่ขายได้เฉลี่ยเพียง 2,500 หน่วยต่อปีเท่านั้น

อย่างไรก็ดีส่วนนี้อาจจะไม่น่าเป็นที่แปลกใจมากนักสำหรับข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการที่เราเจอสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน คงต้องเอาใจช่วยชาวตลาดบ้านไทยกันต่อไปครับ